เคยเห็นไซต์ก่อสร้างบ้าน คอนโด หรืออาคารสูง แล้วมีแผ่นปูนขนาดใหญ่ถูกยกมาวางเรียงต่อกันเหมือนจิ๊กซอว์มั้ยครับ? นั่นแหละคือ “ผนัง Precast” หรือคอนกรีตสำเร็จรูป วัสดุยอดนิยมที่ช่วยให้ก่อสร้างเร็ว แข็งแรง และแม่นยำขึ้นอย่างมาก
แต่รู้ไหมครับว่าผนัง Precast ไม่ได้มีแค่แบบเดียว และถ้าเลือกใช้ไม่ถูกกับโครงสร้างบ้านหรืออาคาร อาจนำไปสู่ปัญหาตามมาทีหลังได้เลย วันนี้ผมเลยอยากพามาทำความรู้จักแบบละเอียด ว่าผนัง Precast มีกี่ประเภท ใช้ต่างกันยังไง และควรระวังเรื่องอะไรบ้างก่อนตัดสินใจครับ
และถ้าคุณกำลังวางแผนก่อสร้างบ้านหรืออาคารโดยใช้ระบบ Precast อย่าลืมว่าการมีทีมงานรับเหมาก่อสร้างที่เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างตั้งแต่ต้นจะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ได้มาก ลองดูรายละเอียดเกี่ยวกับงานก่อสร้างที่ครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างจนถึงงานตกแต่งได้ที่หน้า
ผนัง Precast คืออะไร?
ผนัง พรีคาสท์ หรือ Precast Concrete Wall คือแผ่นคอนกรีตที่ผลิตสำเร็จจากโรงงาน โดยมีการหล่อในแม่พิมพ์ พร้อมใส่เหล็กเสริมไว้ภายในตามตำแหน่งที่กำหนด แล้วนำมาประกอบเข้ากับโครงสร้างที่หน้างาน
ข้อดีของวิธีนี้คือ ควบคุมคุณภาพได้ดี เพราะผลิตในสภาพแวดล้อมที่มีมาตรฐาน ลดการใช้แรงงาน onsite และลดเวลาในการก่อสร้างได้มาก เพราะไม่ต้องก่ออิฐ ฉาบปูนหน้างานแบบเดิม
ผนัง Precast มีกี่ประเภท?
โดยทั่วไป ผนัง Precast ที่ใช้ในงานก่อสร้างจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
ผนัง Precast แบบรับแรง (Load-Bearing Wall)
ผนังประเภทนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคารโดยตรง มีหน้าที่รับน้ำหนักจากชั้นบนหรือจากโครงสร้างด้านบน เช่น หลังคา หรือพื้นชั้นถัดไป ใช้เหล็กเสริมขนาดใหญ่ภายใน และต้องออกแบบตามหลักวิศวกรรมที่แม่นยำ
วัสดุที่ใช้จะเป็นคอนกรีตหล่อเต็มแผ่น เสริมเหล็กเส้นขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถรองรับแรงได้สูง มักมีความหนามากกว่าผนังทั่วไป และต้องใช้เครนในการยกติดตั้งเข้ากับโครงสร้างที่เตรียมไว้ มักใช้ในผนังภายนอกอาคาร แกนกลางของอาคารสูง หรือผนังที่ต้องการความแข็งแรงสูงเป็นพิเศษ
ผนัง Precast แบบไม่รับแรง (Non-Load Bearing Wall)
ผนังประเภทนี้จะไม่ได้รับแรงจากโครงสร้างด้านบน ใช้เพียงแค่แบ่งพื้นที่ เช่น ผนังกั้นห้อง ผนังระหว่างยูนิตในคอนโด หรือผนังภายในบ้าน
วัสดุจะเบากว่า มักหล่อให้บางลงกว่าผนังแบบรับแรง หรือใช้แบบกลวงตรงกลางเพื่อลดน้ำหนัก เหล็กเสริมภายในมีขนาดเล็กกว่า และไม่ได้มีบทบาทต่อโครงสร้างหลักของอาคารโดยตรง
เหมาะสำหรับงานตกแต่งภายในหรืออาคารที่ต้องการความรวดเร็วในการก่อสร้าง และไม่ต้องรับแรงโครงสร้างหรือที่ภาษาเฉพาะชอบเรียกกันว่า ผนังคอนกรีตมวลเบา หรืออีกชื่อที่เรามักเจอบ่อยคือ Texcawall
ข้อดีของผนัง Precast
ลดเวลาการก่อสร้าง เพราะไม่ต้องก่ออิฐ ฉาบปูนหน้างาน
ควบคุมคุณภาพได้ดี เพราะผลิตจากโรงงาน
ผิวงานเรียบเนียน ลดขั้นตอนการฉาบ
มีความแข็งแรงมากกว่าผนังเบาทั่วไป
ใช้แรงงาน onsite น้อยลง เพราะติดตั้งด้วยเครื่องจักร
ข้อควรระวังของผนัง Precast
ต้องวางแผนและออกแบบตั้งแต่ต้น เพราะผลิตจากโรงงานแล้วไม่สามารถปรับหน้างานได้ง่าย
ขนาดต้องเป๊ะ เพราะต้องสั่งโรงงานผลิต
การเจาะผนังเพื่อแขวนของ ต้องใช้พุกเฉพาะของผนัง Precast
น้ำหนักมาก ต้องใช้เครนติดตั้งและมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการขนย้าย
หากติดตั้งไม่ดี อาจมีปัญหาน้ำรั่วตามรอยต่อระหว่างแผ่น
สรุป ผนัง Precast เหมาะกับงานแบบไหน ?
ถ้าคุณกำลังจะสร้างบ้าน อาคารพาณิชย์ หรือโครงการที่ต้องการความเร็วและคุณภาพที่สม่ำเสมอ ผนัง Precast ถือว่าเหมาะมาก เพราะช่วยให้ก่อสร้างรวดเร็ว และควบคุมต้นทุนได้ดี
แต่ถ้าคุณต้องการปรับแบบก่อสร้างระหว่างทาง หรือต้องการอิสระในการออกแบบที่ไม่ตายตัว ผนังชนิดนี้อาจไม่เหมาะนัก เพราะเป็นระบบสำเร็จรูปที่ปรับเปลี่ยนได้น้อย และหากผิดพลาดอาจเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ ผนัง Precast ใช้เฉพาะอาคารใหญ่จริงไหม? เหมาะกับโครงการแบบไหนกันแน่