5 ปัญหาของคนมีบ้านที่น่าปวดหัวมากที่สุด

บ้านที่ดูเรียบร้อยจากภายนอกอาจมีปัญหากวนใจเล็กๆ น้อยๆ ซ่อนอยู่ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะทุกปัญหามีวิธีแก้ไขที่ทำได้ง่าย
ลองดู 5 ปัญหายอดฮิตและวิธีจัดการต่อไปนี้

ฝ้าเพดาน มีรอยด่างเป็นวงเล็กและใหญ่

ปัญหา : มักเกิดจากรอยต่อของหลังคารั่วซึมหรือการเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน และรีบหาสาเหตุให้เจอเพื่อป้องกันฝ้าถล่ม

วิธีแก้ไข

  • สังเกตรอยรั่วหรือน้ำที่ซึมตามฝ้าบ่อยๆ หรือช่วงเวลาฝนตก
  • เมื่อมีรอยรั่ว จ้างช่างที่มีประสบการณ์ให้แก้ไข พร้อมทดลองการรั่วซึม
  • ถ้าห้องมีความชื้นสูงควรใช้ฝ้าชนิดกันความชื้น

ปลวกขึ้นบ้าน

ปัญหา : อาหารของปลวกคือ ไม้ เฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งภายใน จะกินจากด้านใน โดยที่เราไม่รู้ตัว และบ้านไม่ได้ฉีดน้ำยากำจัดปลวก

วิธีแก้ไข

  • ฉีดยากำจัดปลวก หรือ เดินท่อน้ำยา โดยบริษัทกำจัดปลวกที่มีความชำนาญ
  • ทำความสะอาดให้บ้านไม่มีเศษกระดาษหรือไม้ หรือสิ่งที่เป็นอาหารของปลวก
  • ถ้าบ้านไหนมีไม้เลื้อยขึ้นตามกำแพงบ้าน ควรกำจัดทิ้งทันที เพราะเป็นทางเดินให้กับปลวกได้

กลิ่นเหม็นในห้องน้ำ หรือ ท่อน้ำ

ปัญหา : ท่อน้ำอุดตันหรือระบบการระบายน้ำไม่ดี ทำให้กลิ่นตีขึ้นมาจากท่อ

วิธีแก้ไข

  • ใช้เบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำส้มสายชูเพื่อเทลงท่อ จากนั้นราดน้ำร้อนเพื่อละลายคราบไขมัน
  • ถ้ามีน้ำขังในห้องน้ำบ่อย อาจเกิดกลิ่นและเชื้อราได้ ถ้าพึ่งสร้างบ้านควรปูกระเบื้องไล่ระดับเพื่อให้น้ำไหลลงท่อ
  • มีเครื่องหอมดับกลิ่นหรือติดตั้งอุปกรณ์สำหรับกันกลิ่นตีขึ้นมาจากท่อ

ผนังขึ้นเป็นเชื้อราหรือคราบสีดำ

ปัญหา : เกิดจากความชื้นสะสมไม่ได้รับการดูแลเป็นเวลานาน

วิธีแก้ไข

  • ขัดล้างหรือสีจากผนังออกให้หมด ปล่อยไว้ให้แห้งสนิท จากนั้นค่อยทาสีที่ป้องกันเชื้อราในผนัง
  • เพิ่มการระบายอากาศในห้อง เช่นติดพัดลมระบายอากาศ ควรให้ห้องมีอากาศถ่ายเท ไม่ปิดสนิท
  • สังเกตจุดต่างๆ ว่ากำแพงหรือผนังมีการรั่วซึมของน้ำหรือไม่
  • ถ้าไม่มีความชำนาญควรจ้างช่างมืออาชีพ

แอร์มีกลิ่นเหม็นอับ

ปัญหา : เกิดจากการสะสมของสิ่งสกปรกและเชื้อรา ซึ่งฝังเป็นคราบอยู่ในแอร์

วิธีแก้ไข

  • ควรมีการล้างอย่างเต็มระบบทุก 6เดือน – 1ปี ต้องมีช่างที่ล้างเฉพาะทาง
  • ตรวจสอบการระบายหรือท่อน้ำทิ้งของแอร์ ว่ามีจุดไหนติดตั้งไม่ดีหรือชำรุดหรือไม่
  • มีการอุดตันของสิ่งสกปรกเป็นเวลานาน จากการล้างของช่างที่ไม่มีประสบการณ์
  • หากมีการใช้เทียนหอมหรือน้ำมันหอมระเหยอาจทำให้แอร์ตันได้ในระยะยาว เพราะจะเป็นคราบสะสมที่คอยล์เย็น

บ้านโครงการ vs บ้านสร้างเอง แบบไหนเหมาะกับคุณ?

เมื่อคิดจะมีบ้านเป็นของตัวเอง หลายคนมักลังเลระหว่าง “บ้านโครงการ” และ “บ้านสร้างเอง” ทั้งสองตัวเลือกมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันออกไป การเลือกแบบไหนขึ้นอยู่กับงบประมาณ ไลฟ์สไตล์ และความต้องการส่วนตัว ลองพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้

บ้านโครงการ

ข้อดี

  • สะดวกและรวดเร็ว
  • บ้านโครงการสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ ไม่ต้องเสียเวลาวางแผนหรือก่อสร้างเอง
  • มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
  • มักมาพร้อมกับพื้นที่ส่วนกลาง เช่น สวนหย่อม สระว่ายน้ำ หรือระบบรักษาความปลอดภัย
  • ทำเลที่ตอบโจทย์ หรือ เลือกได้ตามที่เราชอบ
  • บ้านโครงการมักตั้งอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก ใกล้แหล่งงานหรือแหล่งชุมชน
  • การออกแบบมาตรฐาน ถ้าเป็นโมเดิร์นอาจมีราคาสูง
  • มีรูปแบบบ้านให้เลือกหลากหลายและผ่านการออกแบบที่เหมาะสมกับการใช้งาน
  • ง่ายต่อการขอสินเชื่อ
  • ธนาคารมักอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้นสำหรับบ้านโครงการ

ข้อเสีย

  • ตัวเลือกการปรับแต่งจำกัด
  • ขนาดที่ดินและบ้านอาจไม่ยืดหยุ่นตามความต้องการ
  • ราคาอาจสูงเมื่อเทียบกับวัสดุที่ใช้
  • บางโครงการอาจใช้วัสดุไม่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุน

บ้านสร้างเอง

ข้อดี

  • สามารถออกแบบห้องได้ตามใจมากที่สุด
  • สามารถเลือกแบบบ้าน วัสดุ และฟังก์ชันต่างๆ ได้ทุกจุด
  • ควบคุมงบประมาณได้มากกว่า
  • วางแผนเลือกวัสดุหรือปรับเปลี่ยนแบบบ้านให้เหมาะสมกับงบที่ตั้งไว้
  • เลือกทำเลที่ชอบและขนาดพื้นที่ตามต้องการเช่นที่ดินขนาดใหญ่สำหรับปลูกต้นไม้
  • ช่วยเพิ่มมูลค่าในอนาคต
  • มีความส่วนตัวมากกว่า
  • ต่อเติมได้อิสระไม่ต้องขออนุญาตโครงการ

ข้อเสีย

  • กระบวนการก่อสร้างใช้เวลานาน (ถ้ารอได้ข้อนี้จะไม่เป็นปัญหา)
  • ต้องศึกษากฎหมายและขออนุญาตก่อสร้าง
  • ความเสี่ยงในการเลือกผู้รับเหมาที่ไม่มีคุณภาพ
  • ต้องใช้เวลาและความละเอียดในการดูแลโครงการ
  • ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยเหมือนบ้านโครงการ

เปรียบเทียบระหว่าง บ้านโครงการและบ้านสร้างเอง

หัวข้อ

บ้านโครงการ

บ้านสร้างเอง

ความสะดวก

พร้อมเข้าอยู่ทันที

ใช้เวลาในการสร้าง

การออกแบบ

ตัวเลือกจำกัด

ปรับแต่งได้ตามใจ

งบประมาณ

คงที่แต่ราคาสูงกว่าในบางกรณี

ยืดหยุ่นตามการเลือกวัสดุ

สิ่งอำนวยความสะดวก

มีส่วนกลางและระบบรักษาความปลอดภัย

ต้องจัดหาเพิ่มเติม หรือเพิ่มงบ

ที่ทำเล

ส่วนใหญ่ในแหล่งชุมชน

เลือกได้ตามความต้องการขึ้นอยู่กับเงิน

แบบไหนเหมาะกับเรา

  • บ้านโครงการ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว สังคมภายในหมู่บ้าน และไม่อยากวุ่นวายกับการวางแผนก่อสร้าง
  • บ้านสร้างเอง เหมาะกับคนที่ต้องการบ้านในแบบที่สะท้อนตัวตน ควบคุมงบประมาณได้ และมีเวลาคอยตรวจหน้างาน ปรับแต่งได้ทุกมุม

การเลือกบ้านที่เหมาะกับคุณขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนตัว แต่ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน การวางแผนและศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก็เป็นสิ่งสำคัญ

10 ข้อควรรู้ ก่อนสร้างบ้านในฝัน

ก่อนเราสร้างบ้านต้องเช็คให้ดีว่า ที่ดินตรงนี้เหมาะกับการปลูกบ้านไหม ใกล้สถานที่อะไรบ้างเช่น ห้าง โรงพยาบาล หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บ้านควรมีฟังก์ชั่นอะไรบ้างเพื่อตอบโจทย์เราและครอบครัว วันนี้จะมาบอก 10 ข้อที่ควรรู้ก่อนสร้างบ้านในฝัน

1. เลือกทำเลที่เหมาะสม

ตรวจสอบความสะดวกในการเดินทาง ความปลอดภัย ระบบสาธารณูปโภค และแผนพัฒนาพื้นที่ในอนาคต

2. ออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

วางแผนพื้นที่ใช้สอยและฟังก์ชันการใช้งานให้เหมาะสมกับสมาชิกในครอบครัว เช่น ห้องทำงาน ห้องเล่นของเด็ก หรือมุมพักผ่อน เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในภายหลัง

3. ศึกษากฏหมายและข้อกำหนดการก่อสร้างในแต่ละพื้นที่

ตรวจสอบข้อกำหนดของพื้นที่ เช่น ระยะร่นจากถนน ความสูงของอาคาร และข้อห้ามเกี่ยวกับการต่อเติม ว่าโซนนี้หรือเขตปัจจุบันที่เราอยู่สามารถสร้างที่พักอาศัยได้กี่ชั้น เป็นต้น

4. เลือกวัสดุก่อสร้างหรือตกแต่งให้เหมาะสมหรือได้มาตรฐานสากล

ใช้วัสดุที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น หลังคาทนความร้อน วัสดุทนความชื้น หรือวัสดุกันปลวก ทางเราแนะนำว่า ควรอย่างยิ่งที่จะใช้วัสดุที่ได้มาตรฐานและมีเกรด เพราะถ้าเราใช้ของไม่ได้มาตรฐานในอนาคตก็อาจจะเกิดการเสื่อมหรือหลุดร่อนได้อยู่ดี

5. คิดเผื่ออนาคต

สร้างบ้านโดยคำนึงถึงการขยายครอบครัวในอนาคตหรือการใช้งานในระยะยาวเช่น ห้องสำรอง หรือ พื้นที่สำหรับใช้งานของผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งตัวเราเอง ว่ามีแฟนหรือครอบครัวต้องออกแบบห้องให้มีฟังก์ชั่นอะไรบ้าง

6. ใส่ใจในเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม

ออกแบบให้มีการใช้ไฟได้น้อยที่สุดเช่น ติดตั้งฉนวนกันความร้อน มีหน้าต่างเพิ่มในกรณีที่ห้องมืดเกินไป ให้โอกาสผ่านได้มากที่สุดหรือติดตั้ง แผงโซล่าเซลล์ ในอนาคตก็จะประหยัดไฟได้มากขึ้น อย่างบ้านของผมเองก็มีหน้าต่างบานใหญ่ เพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาในตัวบ้าน

7. วางแผนระบบไฟฟ้าและประปา

วางระบบไฟฟ้าและประปาให้ปลอดภัย และครอบคลุมการใช้งานเช่น ติดตั้งปลั๊กไฟในจุดที่ใช้งานบ่อย หรือจุดที่ทำให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น เลือกใช้หลอดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มอก. เท่านั้น

8. ตรวจสอบงานก่อสร้างให้ละเอียดก่อนรับบ้าน

ก่อสร้างทั้งทีเราควรมีเวลาตรวจงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การสร้างบ้านเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ หรือ ปรับ/แก้ไข ในจุดที่เราต้องการได้ทันเวลาในกรณีที่เจ้าของบ้านเกิดเปลี่ยนใจกระทันหันในบางจุด แต่ต้องอยู่ในความดูแลของวิศวกรนะครับ เพื่อความปลอดภัย

9. เดินท่อหรือมีการฉีดน้ำยา กำจัดปลวก

บ้านสมัยนี้มีการ ตกแต่งภายใน การกำจัดปลวก คือสิ่งที่หลายคนมองข้าม ควรหาบริษัทที่เชี่ยวชาญ เพื่อเดินท่อกำจัดปลวกตั้งแต่งานโครงสร้าง ถ้าเดินท่อไม่ทันเราสามารถพ่นตามขอบเขตบ้านได้ หรือเจาะเพิ่มแต่ก็จะมีตำหนิตรงพื้นบ้านนิดหน่อยนะ

10. เลือกผู้รับเหมาหรือบริษัทที่เชื่อถือได้

ก่อนจะให้ใครมา รับสร้างบ้าน ของเราควรดูผลงาน ความน่าเชื่อถือของผู้รับเหมา รวมถึงการเซ็นสัญญารายละเอียดต่างๆ ไม่ควรรับงานปากเปล่า ควรมีสัญญาจ้างชัดเจนแม้ว่านั่นจะเป็นญาติผู้ใหญ่ที่ไว้ใจก็ตาม ทุกการจ่ายเงินจะต้องเป็นตามงวดงานที่เซ็นสัญญาไว้เท่านั้น ยกเว้นจะมีการเพิ่มงานของลูกค้าหรือแจ้งรายละเอียดเป็นเอกสารเท่านั้น

สรุป

การสร้างบ้านควรดูหลายๆปัจจัยและองค์ประกอบ ที่ดินที่เราอยู่สิ่งแวดล้อมเป็นแบบไหน ทิศของแสงเข้าทางไหนบ้าง เพื่อให้การออกแบบบ้านตอบโจทย์เรามากที่สุด ควรวางแผนให้ดีแล้วเราจะได้ไม่เสียใจหรือแอบคิดมากในภายหลัง สิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง ควรเลือกผู้รับเหมาที่น่าเชื่อถือมากที่สุด